การลดความสูญเสียในการทำงานของเกษตรกรชาวสวนยางพารา ด้วยวิธีการประเมินผลทางการยศาสตร์ : กรณีศึกษาในพื้นที่อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล
วีรชัย มัฎฐารักษ์ *
สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม, คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม, มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการลดความสูญเสียในการทำงานของเกษตรกรชาวสวนยางพาราด้วยวิธีการประเมินผลทางการยศาสตร์ จากการศึกษาการทำงานของเกษตรกรพบว่าเกิดความสูญเสียในการทำงานจากการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็นในขั้นตอนการนำยางมานวดให้เป็นแผ่นบางซึ่งส่งผลให้มีปัญหาต่อสุขภาพ ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยจึงได้ตรวจสอบและประเมินภาวะทางการยศาสตร์โดยใช้วิธีการ RULA และวิธีการ REBA ผลการวิเคราะห์ด้วยวิธีการ RULA พบว่ามีคะแนนเท่ากับ 7 ซึ่งหมายถึงการมีปัญหาทางการยศาสตร์ที่ต้องได้รับการปรับปรุงการทำงานโดยทันที ในทำนองเดียวกันกับการวิเคราะห์ด้วยวิธีการ REBA ที่พบว่ามีคะแนนเท่ากับ 11 ซึ่งหมายถึงการทำงานที่มีความเสี่ยงสูง จึงต้องการการตรวจสอบและปรับเปลี่ยนท่าทางการทำงานในทันที โดยหลังจากได้นำเสนอการออกแบบสร้างเครื่องนวดยางแผ่น ตลอดจนตรวจสอบและประเมินภาวะทางการยศาสตร์เบื้องต้น ด้วยวิธีการ RULA พบว่าค่าคะแนนลดลงจากเดิมเท่ากับ 7 เหลือ 3 สอดคล้องกับการวิเคราะห์ด้วยวิธีการ REBA ที่พบว่าค่าคะแนนจากเดิมเท่ากับ 11 เหลือ 4 สำหรับผลการประเมินความพึงพอใจก่อนและหลังการนำเสนอแนวทางการปรับปรุงการทำงาน พบว่าระดับความพึงพอใจเพิ่มขึ้น จากเดิมค่าเฉลี่ย 3.28 (ก่อนปรับปรุง) เป็นค่าเฉลี่ย 4.12 (หลังปรับปรุง) สรุปได้ว่าปัญหาทางการยศาสตร์ของเกษตรกรลดลงและความพึงพอใจในการทำงานเพิ่มขึ้นจากการนำเสนอแนวทางปรับปรุงการทำงาน

คำสำคัญ : ความสูญเสีย, การเคลื่อนไหวร่างกาย, การยศาสตร์, เกษตรกรชาวสวนยางพารา