การผลิตก๊าซชีวภาพจากเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย
นรารัชต์พร นวลสวรรค์ 1* และ วนัสพรรัศม์ สวัสดี 2
1 ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม, วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
2 สาขาวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา, วิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ, มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

บทคัดย่อ
เทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียในปัจจุบันถือได้ว่ามีความแพร่หลาย เนื่องจากสามารถได้ประโยชน์ถึงสองทาง คือ การบำบัดน้ำเสีย และการผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่จำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี เทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียที่นิยมในปัจจุบัน คือ 1) Modified Covered Lagoon 2) Completely Stirred Tank Reactor (CSTR) 3) ระบบตะกอนเร่งแบบไม่ใช้อากาศ (Anaerobic Activated Sludge, AAS) 4) ระบบแบบตรึงฟิล์มจุลินทรีย์ (Anaerobic Fixed Film) 5) ระบบ Fluidized Bed 6) ระบบ Anaerobic Hybrid Reactor 7) ระบบยูเอเอสบี (Upflow Anaerobic Sludge Blanket, UASB) 8) ระบบอีจีเอสบี (Extended Granular Sludge Bed, EGSB) 9) ระบบไอซี (Internal Circulation, IC) เนื่องจากทุกระบบถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูง ควบคุมระบบได้ง่าย มีตะกอนออกจากระบบน้อย อีกทั้งยังสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของน้ำเสียได้เป็นอย่างดี แต่ค่าใช้จ่ายในการเดินระบบต่ำ ทำให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งการผลิตก๊าซชีวภาพและบำบัดน้ำเสียพร้อมกัน นอกจากนี้เทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย ยังถือได้ว่าเป็นกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM; Clean Development Mechanism) เพื่อให้เกิดการพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนอย่างยั่งยืน และนำไปสู่การขายคาร์บอนเครดิตหรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดลงได้ต่อไป

คำสำคัญ : ก๊าซชีวภาพจากเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย, คาร์บอนเครดิต, กลไกการพัฒนาที่สะอาด