การจัดการมูลฝอยจากตลาดสดและเศษวัสดุสีเขียวภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
นภารัตน์ ไวยเจริญ * ศรัญญา ปานพืช รอกิ มะแซ และ วรรณวิมล ศรีคง
ภาควิชาวิทยาศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ปัตตานี

บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการจัดการมูลฝอยอินทรีย์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ในรูปการหมุนเวียนธาตุอาหาร เพื่อศึกษาข้อมูลการจัดการมูลฝอยจากตลาดสดและภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยศึกษาสมบัติทางกายภาพ และเคมี จากผลการศึกษาพบว่า ตลาดสดเทศบาลเมืองปัตตานีมีปริมาณมูลฝอยเฉลี่ย 2.00 ตันต่อวัน มีความหนาแน่น 0.70 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีองค์ประกอบเรียงตามลำดับคือ เศษผัก ร้อยละ 53.78 เศษผลไม้ร้อยละ 19.56 และเศษกระดาษร้อยละ 15.33 มีความชื้นร้อยละ 86. 78 ภายในตลาดสดมีการคัดแยกมูลฝอยและนำไปเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ เลี้ยงปลาดุก เป็ด และแพะ ส่วนเศษวัสดุสีเขียวภายในมหาวิทยาลัยเกิดจากกิจกรรมตัดหญ้า ตกแต่งกิ่งไม้ และการปรับภูมิทัศน์ มีปริมาณเฉลี่ย 300.00 กิโลกรัมต่อวัน มีแนวทางการจัดการ 3 แนวทางคือ การหมักทำปุ๋ย เทกองกลางแจ้ง และเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่ใช้วิธีการเทกองให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ จึงต้องใช้เนื้อที่มาก ดังนั้น การนำเศษวัสดุอินทรีย์จากตลาดสดเทศบาลเมืองปัตตานีและภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีมาหมักร่วมกัน จึงเป็นแนวทางการจัดการมูลฝอยอินทรีย์และได้สารปรับปรุงคุณภาพดินที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชซึ่งปริมาณธาตุอาหารหลัก พบว่า มีค่าเกินค่ามาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปริมาณไนโตรเจนร้อยละ 1.31 ฟอสฟอรัสร้อยละ 1.63 และโพแทสเซียมร้อยละ 0.56 ดังนั้นจึงสามารถนำมาเป็นสารปรับปรุงคุณภาพดินได้

คำสำคัญ : การจัดการมูลฝอย, เศษวัสดุสีเขียว, การใช้ประโยชน์ใหม่, การหมุนเวียนสารอาหาร