ศักยภาพการเกิดก๊าซชีวภาพจากน้ำชะขยะ กรณีศึกษาบ่อขยะไทรน้อยจังหวัดนนทบุรี
นรารัชต์พร นวลสวรรค์ 1 และ วนัสพรรัศม์ สวัสดี 2*
1 ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวก รรมโยธาและสิ่งแวดล้อม, วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
2 สาขาวิชานวัตกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อม, วิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ, มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาศักยภาพการเกิดก๊าซชีวภาพจากน้ำชะขยะในระบบบ่อปรับเสถียร พื้นที่บ่อขยะไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี โดยเก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อปรับเสถียรในพื้นที่ ทั้งหมด 4 จุด คือ บ่อปรับเสถียรที่ 1 บ่อปรับเสถียรที่ 2 บ่อปรับเสถียรที่ 3 และบ่อปรับเสถียรที่ 4 จากผลการศึกษาพบว่า บ่อปรับเสถียรสามารถบำบัดปริมาณสารอินทรีย์ในน้ำเสียในรูปซีโอดีในน้ำชะขยะได้ โดยปริมาณสารอินทรีย์ในน้ำเสียในรูปซีโอดี ที่สามารถลดได้จากระบบ เริ่มต้น 3,700 มิลลิกรัมซีโอดีต่อลิตร หลังบำบัด 825 มิลลิกรัมซีโอดีต่อลิตร หรือมีประสิทธิภาพในการกำจัดปริมาณสารอินทรีย์ในน้ำเสียในรูปซีโอดี 77 เปอร์เซนต์ เนื่องจากน้ำชะขยะนั้นมีโครงสร้างที่ซับซ้อน และไม่ได้ผ่านการปรับสภาพเบื้องต้น ทำให้จุลินทรีย์ในระบบย่อยสลายสารอินทรีย์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการบำบัดไม่สูงนัก ในด้านศักยภาพการผลิตก๊าซมีเทนจากบ่อปรับเสถียรบ่อที่ 1 ถึง บ่อที่ 4 สามารถวิเคราะห์ศักยภาพการผลิตก๊าซมีเทนได้ 0.30, 0.25, 0.19 และ0.14 ลิตรของมีเทนต่อมิลลิกรัมซีโอดีกำจัด ตามลำดับ ดังนั้นสรุปได้ว่า บ่อปรับเสถียรสามารถกำจัดปริมาณสารอินทรีย์ในน้ำเสียในรูปซีโอดี ไนโตรเจน แอมโมเนีย และมีศักยภาพในการผลิตก๊าซมีเทนได้ นอกจากนี้ระบบบ่อปรับเสถียรยังมีต้นทุนการก่อสร้างและเดินระบบที่ต่ำ

คำสำคัญ : ระบบบ่อปรับเสถียร, ศักยภาพการผลิตก๊าซมีเทน, น้ำชะขยะ, ระบบบำบัดทางธรรมชาติ