การควบคุมมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้ชีวมวลของชุมชนป่าแดด บัญจรัตน์ โจลานันท์ 1*, ศิรประภา ร่มเย็น 1 และ จันทร์สุดา คำตุ้ย 2 1 สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ 2 เทศบาลตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศและการเผาไหม้ชีวมวลภายในชุมชนป่าแดด รวมทั้งหารูปแบบการควบคุมมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้ชีวมวลที่เหมาะสมต่อบริบทชุมชน วิธีดำเนินการวิจัยผสมผสานทั้งวิธีเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ รวมทั้งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมในการสะท้อนความต้องการจากระดับล่างสู่การวางแผนหรือการกำหนดนโยบายระดับบน การรวบรวมข้อมูลอาศัยการตรวจเอกสาร การลงสำรวจพื้นที่ การใช้แบบสอบถามเชิงโครงสร้าง การสนทนากลุ่ม การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึก และการประชุมเชิงปฏิบัติการ เป็นต้น และทำการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปเชิงพรรณนา การศึกษาพบว่าการเผาป่าไมยราบยักษ์ในที่ดินรกร้างว่างเปล่า (ร้อยละ 61.3) การเผาเศษวัสดุกิ่งไม้ใบไม้และการเผาขยะจากครัวเรือนในที่โล่ง (ร้อยละ 38.7) เป็นสาเหตุหลักของปัญหามลภาวะทางอากาศ มลพิษอากาศที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (ร้อยละ 31.9-42.6) ยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพย์สินของชุมชน (ร้อยละ 33.3) ในภาพรวมของการศึกษาได้เสนอแผนงานหลักจำนวน 6 โครงการเพื่อควบคุมการเผา ได้แก่ 1) โครงการขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย 2) โครงการพัฒนามาตรการภาษีก้าวหน้า 3) โครงการให้ความรู้ปลูกจิตสำนึก 4) โครงการแปรรูปและใช้ประโยชน์จากชีวมวล 5) โครงการคัดแยกขยะชุมชน และ 6) โครงการพัฒนาเครือข่ายการเฝ้าระวัง สำหรับตัวชี้วัดประสิทธิผลในการควบคุมการเผาไหม้ชีวมวล ได้แก่ 1) ความถี่ในการเผาลดลง 2) ทัศนวิสัยการมองเห็น 3) การรับรู้ข้อมูลมลพิษจากการเผา และ 4) จำนวนข้อร้องเรียนลดลง ขณะเดียวกัน ชุมชนยังคงกำหนดให้เทศบาลตำบลป่าแดดและแกนนำชุมชนเป็นผู้มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว และกำหนดให้กลุ่มต่างๆ ในชุมชน เช่น อาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม) สภาเยาวชน รวมถึงประชาชนในพื้นที่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินการ

คำสำคัญ : มลพิษทางอากาศ, การเผาไหม้ชีวมวล, ชีวมวล