การประจุแบตเตอรี่ด้วยการติดตามดวงอาทิตย์แบบ 2 แกนแบบอัตโนมัติ ปรีชา มหาไม้ 1,*, นำพร ปัญโญใหญ่ 2>, และ ภาสวรรธน์ วัชรดำรงศักดิ์ 3 1 สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า, คณะวิศวกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก 2 คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ตาก 3 สถาบันวิจัยและพัฒนา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

บทคัดย่อ
แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใช้งานติดตั้งอยู่กับที่หรือแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีการติดตามดวงอาทิตย์แบบหนึ่งแกนในแนวอัลติจูดอาจไม่สามารถจัดเก็บพลังงานได้เต็มที่และประสบปัญหาช่วงการเปลี่ยนฤดูกาลซึ่งดวงอาทิตย์มีการเปลี่ยนวงโคจรแนวอะซิมุธงานวิจัยนี้จึงได้นำเสนอระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีการเคลื่อนที่ตามตำแหน่งดวงอาทิตย์ครอบคลุมทั้งแนวอัลติจูดและแนวอะซิมุธโดยวิธีการตรวจวัดค่าความเข้มของแสงจากเซ็นเซอร์แบบตัวต้านทานแปรค่าตามแสง (LDR) วางจำนวน 4 จุดที่ขอบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ทั้ง 4 ด้านตรงจุดกึ่งกลาง โดยวางลักษณะตรงข้ามกันเพื่อเปรียบเทียบค่าความเข้มแสงติดตั้งในท่อยางสีดำซึ่งสามารถติดตามดวงอาทิตย์ในลักษณะเป็นช่วงได้ โดยช่วงของการติดตามสามารถกำหนดได้จากความลึกของการติดตั้งตัวต้านทานแปรค่าตามแสงในท่อยางสีดำ ค่าความเข้มแสงที่ได้จะถูกป้อนให้กับชุดควบคุม ที่ใช้ ไมโครคอนโทรลเลอร์เบอร์ PIC16F877-20P เพื่อทำการประมวลผลสัญญาณผ่านชุดควบคุมสั่งให้มอเตอร์กระแสตรงทำงานหมุนแผงเซลล์แสงอาทิตย์ทั้ง 2 แนวแกน ไปยังจุดที่มีความเข้มแสงสูงสุด โดยทดสอบหาผลตอบสนองทางเวลาของการเคลื่อน พบว่ามีการตอบสนองทางเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 11.7 องศา ต่อวินาที การทดสอบระบบการประจุที่มีการติดตามดวงอาทิตย์โดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 12 โวลต์กำลังไฟฟ้าสูงสุด 120 วัตต์กับ แบตเตอรี่ประจุพลังงานแรงดัน 12 โวลต์ 120 แอมแปร์- ชั่วโมง พบว่าเซลล์แสงอาทิตย์แบบที่มีตัวจับการเคลื่อนที่สองแกน สามารถเก็บพลังงานได้มากกว่าแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งอยู่กับที่ 21.27 วัตต์ คิดเป็นร้อยละ 17.72

คำสำคัญ : การติดตามดวงอาทิตย์แบบ 2 แกน, การประจุแบตเตอรี่