การประยุกต์ใช้เทคนิคการถ่ายภาพเคลื่อนไหวเพื่อระบุชนิดเหล็กกล้าจากการทดสอบประกายไฟ ประเสริฐ เหรียญประดับ*, สมนึก วัฒนศรียกุล , และ ประมุข เจนกิตติยนต์ ภาควิชาวิศวกรรมการผลิต, สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

บทคัดย่อ
การระบุชนิดของเหล็กกล้าด้วยวิธีการทดสอบประกายไฟ เป็นวิธีที่ทำได้โดยไม่ซับซ้อน และสามารถใช้งานได้ดีในภาคสนาม โดยมีการกำหนดหลักการและวิธีการไว้ใน มาตรฐาน JIS G 0566 แต่เนื่องจากประกายไฟที่เกิดขึ้นเป็นช่วงสั้น ๆ ผู้ที่ทำการวิเคราะห์ต้องมีทักษะสูง จึงทำให้วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร โครงการนี้เป็นการนำหลักการวิเคราะห์ประกายไฟของเหล็กกล้า ตามมาตรฐาน JIS G 0566 มาทำการศึกษา โดยการถ่ายภาพวีดีโอด้วยกล้องเว็บแคมและแปลงเป็นภาพนิ่ง เพื่อนำไปวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมวิเคราะห์ประกายไฟ ในการถ่ายภาพวีดีโอกำหนดให้ใช้กล้องเว็บแคม ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล ในการทดสอบโปรแกรมวิเคราะห์ประกายไฟเลือกใช้เหล็กกล้าคาร์บอนต่ำ, เหล็กกล้าเจือต่ำ และเหล็กกล้าเจือสูงโดยรู้เกรดของเหล็กกล้ารวม 10 ชนิด โดยโปรแกรมวิเคราะห์ประกายไฟที่พัฒนาขึ้นมาใช้เกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้คือ ความยาว, มุมและสีของประกายไฟเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ในโครงการนี้ได้ใช้เครื่องเจียระไนความเร็วรอบสูงที่ 27,000 รอบ/นาที และหินเจียรแบบ A36N ขนาด Ø 30 มม. พบว่าความยาวประกายไฟสูงสุดคือเหล็กกล้าคาร์บอนต่ำ SS 400 ความยาวเฉลี่ยเท่ากับ 40.88 เซนติเมตร และความยาวต่ำสุดของประกายไฟคือ เหล็กกล้าคาร์บอนสูง-เจือต่ำ SUJ 2 ความยาวเฉลี่ยเท่ากับ 27.4 เซนติเมตร มุมของประกายไฟสูงสุดคือ เหล็กกล้าคาร์บอนปานกลาง-เจือต่ำ SCM 440 มุมเฉลี่ยเท่ากับ 40.6 องศา และมุมของประกายไฟต่ำสุด คือ เหล็กกล้าคาร์บอนสูง SK 4 มุมเฉลี่ยเท่ากับ 33.4 องศา การทดลองวิธีนี้สามารถระบุเหล็กกล้าได้ทุกเกรด

คำสำคัญ : การทดสอบประกายไฟ, กล้องเว็บแคม, JIS G 0566, โปรแกรมวิเคราะห์ประกายไฟ