การประยุกต์ใช้แบบจำลองทางสถิติ เพื่อหาส่วนผสมของคอนกรีตบล็อกที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ สนธยา ทองอรุณศรี*, และ อัศวิน คุณาแจ่มจรัส สาขาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม, คณะวิศวกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก

บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้หลักการทางสถิติในการออกแบบการทดลองในงานวิศวกรรมโยธา เนื่องจากการใช้หลักการทางสถิติในการออกแบบการทดลองจะทำให้จำนวนตัวอย่างลดลง ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการทดลอง ผลที่ได้จากการทดลองมีความคลาดเคลื่อนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับวิธีที่ใช้ทั่วไป งานวิจัยนี้เลือกใช้การหาส่วนผสมของคอนกรีตบล็อกที่สามารถผลิตคอนกรีตบล็อกให้มีคุณสมบัติได้ตามมาตรฐาน มอก. 58-2533 และมีต้นทุนการผลิตต่ำ เป็นเป้าหมายในการศึกษา เนื่องจากในแต่ละปีมีความต้องการใช้คอนกรีตบล็อกเป็นจำนวนมากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ แต่เนื่องจากไม่มีการออกแบบส่วนผสมที่เป็นมาตรฐาน คอนกรีตบล็อกส่วนใหญ่ที่มีขายอยู่ในปัจจุบันจึงมีคุณภาพไม่ได้ตามมาตรฐาน จากผลการวิจัยพบว่าการใช้การออกแบบการทดลองแบบเชิงแฟกทอเรียล ร่วมกับการออกแบบรูปผสมจุดศูนย์กลาง มีความเหมาะสมสำหรับการออกแบบการทดลองสำหรับคอนกรีตบล็อก แบบจำลองที่ได้สามารถทำนายค่ากำลังอัดของคอนกรีตบล็อกได้ดี จากผลการวิจัยพบว่าส่วนผสมที่เหมาะสมมีทั้งสิ้น 4 ส่วนผสม ความเหมาะสมของแต่ละส่วนผสมขึ้นอยู่กับวัสดุและเครื่องมือที่ใช้ในการผลิต โดยส่วนผสมที่ใช้หินเกล็ด อัตราส่วนโดยปริมาตรที่แนะนำคือ 1 : 3 : 8 : 4 (ปูนซีเมนต์ : ทรายหยาบ : หินฝุ่น : หินเกล็ด) เมื่อผลิตด้วยเครื่องแบบเท้าเหยียบ และ 1 : 3 : 10 : 5 เมื่อผลิตด้วยเครื่องแบบไฮดรอลิค สำหรับส่วนผสมที่ไม่ใช้หินเกล็ด คือ 1 : 2 : 10 (ปูนซีเมนต์ : ทรายหยาบ : หินฝุ่น) เมื่อผลิตด้วยเครื่องแบบเท้าเหยียบ และ 1 : 3 : 13 เมื่อผลิตด้วยเครื่องแบบไฮดรอลิค ส่วนผสมทั้ง 4 มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าส่วนผสมส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแสดงว่าการผลิตคอนกรีตบล็อกให้ได้มาตรฐาน ไม่จำเป็นต้องใช้ต้นทุนในการผลิตสูงกว่าส่วนผสมทั่วไป

คำสำคัญ : คอนกรีตบล็อก, กำลังอัด, แบบจำลอง, ส่วนผสม, มอก. 58-2533