การวิเคราะห์ความเข้มของสีใบข้าวด้วยซัพพอร์ตเวกเตอร์สำหรับการถดถอยเพื่อลดต้นทุนในการผลิต เอกลักษณ์ สุมนพันธุ์ 1,*, และ ประมูล บัวน้อย2 1สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์, สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า, คณะวิศวกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก 2 สาขาวิชาวิศวกรรมโลหะ, สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ, คณะวิศวกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก

บทคัดย่อ
เกษตรกรนิยมปลูกข้าวพันธุ์ผสมไม่ไวต่อช่วงแสง โดยเลือกใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าวเพื่อเพิ่มผลผลิต แต่เนื่องจากปุ๋ยไนโตรเจน(ยูเรีย) เป็นปุ๋ยที่สูญเสียง่ายในสภาพน้ำขัง ดังนั้นเพื่อให้การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าว ที่มีสภาพน้ำขังตลอดปีมีประสิทธิภาพคุ้มค่ากับปริมาณปุ๋ยที่ใช้ จึงมีการแนะนำเกษตรกรแบ่งใส่ปุ๋ยไนโตรเจนให้ตรงกับ ความต้องการของข้าว โดยใช้แผ่นเทียบสีในการวัดสีใบข้าวเป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าว ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเกษตรกรจำเป็นต้องเลือกใบข้าวอย่างน้อย 10 ใบสุ่มทั่วแปลงข้าว นำมาวัดเทียบกับแผ่นเทียบสีที่สามารถวัดได้เพียงครั้งละ 1 ใบ จึงเกิดความไม่สะดวกและการวัดสีใบข้าวกลางแจ้ง สีใบข้าวอาจเปลี่ยนไปได้เนื่องจากการสะท้อนของแสงแดดเข้าสู่สายตาผู้วัด นอกจากนี้กรณีที่ทำการวัดได้ค่าสีกึ่งกลางระหว่างแถบสีก็เป็นการยากที่จะบอกได้ว่าสีใบข้าวมีความเข้มของสีอยู่ในช่วงใด งานวิจัยชี้นนี้เสนอเทคนิคด้านการประมวลผลภาพในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยนำแผ่นเทียบสีใบข้าวที่มี 4 แถบสี จำนวน 2 แผ่นมาทำการสแกนเก็บเป็นไฟล์ข้อมูลภาพ จากนั้นนำไปทำการคัดแยกสีใบข้าวด้วยฟัซซีซีมีน จากกลุ่มสีใบข้าวนำมาคำนวณหาค่าเฉลี่ยสีเก็บเป็นลักษณะเด่นที่ใช้กับซัพพอร์ตเวกเตอร์สำหรับการถดถอย เพื่อประมาณค่าสีใบข้าว เป็นการเพิ่มความแม่นยำในการกำหนดปริมาณปุ๋ยไนโตรเจนที่ต้องใส่เพิ่มในนาข้าว จากผลการทดลองได้นำค่าผิดพลาดสัมบูรณ์เฉลี่ยและเปอร์เซนต์ค่าผิดพลาดสัมบูรณ์เฉลี่ยมาเป็นเกณฑ์วัดความถูกต้องของระบบ จากผลการทดลองพบว่าวิธีการของซัพพอร์ตเวกเตอร์สำหรับการถดถอยให้ผลรวมค่าผิดพลาดสัมบูรณ์เฉลี่ยและผลรวมเปอร์เซนต์ค่าผิดพลาดสัมบูรณ์เฉลี่ยน้อยที่สุดในการทดสอบข้อมูลแบบบอด เมื่อเทียบกับการอ่านค่าสีใบข้าวจากแผ่นเทียบสีของผู้เชี่ยวชาญ

คำสำคัญ : แผ่นเทียบสีใบข้าว, ปุ๋ยไนโตรเจน, ฟัซซีซีมีน, ซัพพอร์ตเวกเตอร์สำหรับการถดถอย