ผลกระทบจากสภาวะการขับขี่ที่ไม่คงที่ต่อมลพิษของรถยนต์ดีเซล The Effects of Transient Driving Patterns on Diesel Vehicle Emissions เชษฐวุฒิ ภูมิพิพัฒน์พงศ์, ปิลันธน์ พืชสะกะ และ ปิติณัตต์ ตรีวงศ์

บทคัดย่อ
งานวิจัยหลายชิ้น ได้สรุปผลกระทบของพฤติกรรมการขับขี่ต่อปริมาณมลพิษด้วยหน่วยที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะหน่วยที่ได้จากการทดสอบรถยนต์ดีเซลบน Chassis Dynamometer เป็นหน่วยที่ขึ้นกับเวลา (g/km) ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้ งานวิจัยนี้จึงนำข้อมูลโดยละเอียดของการขับขี่ตามรูปแบบมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษมาคาดคะเนความเร็วรอบเครื่องยนต์และสภาวะการขับขี่เพื่อสังเกตผลกระทบที่มีต่อปริมาณมลพิษไอเสีย และเพื่อเป็นแนวทางในการใช้ Chassis Dynamometer ทดสอบแทนการใช้ Engine Dynamometer ซึ่งน่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทดสอบได้ ผลการวิจัยได้แสดงว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปริมาณมลพิษจาก Phase 1 ไปสู่ Phase 3 ขึ้นอยู่กับหน่วยที่ใช้รายงานผล และพบว่าหากเปรียบเทียบการขับขี่ที่สภาวะคงตัวที่ความเร็วต่างกัน การขับขี่ที่ความเร็วสูงจะมีระดับมลพิษสูงกว่า และมลพิษจะสูงมากในขณะเปลี่ยนเกียร์หรือใช้เกียร์ไม่เหมาะสมกับความเร็ว วิธีการวิเคราะห์นี้มีข้อดีคือ สามารถแสดงการเปลี่ยนแปลงปริมาณมลพิษที่เกิดจากสภาพการขับขี่จริง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลต่างๆ ก็ยังไม่ละเอียดเพียงพอที่จะใช้วิธีการนี้มาทดแทนการทดสอบด้วย Engine Dynamometer
คำสำคัญ : มลพิษไอเสีย, รถยนต์ดีเซล, กรมควบคุมมลพิษ, สภาวะการขับขี่ตามรูปแบบมาตรฐาน