พอลิเมอร์ผสมระหว่างพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ และไนลอน6 โดยมีเทอร์โมพลาสติก อิลาสโตเมอร์จากยางธรรมชาติอิพ็อกซิไดซ์เป็นตัวเชื่อมประสาน พรศรี เพคยางกูร* ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกล, วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

บทคัดย่อ
ในการศึกษานี้ได้ทำการศึกษาลักษณะทางโครงสร้างสัณฐานวิทยา สมบัติเชิงกล และสมบัติการไหลของพอลิเมอร์ผสมระหว่างพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ กับไนลอน6 โดยมีเทอร์โมพลาสติก อิลาสโตเมอร์ชนิด TPENR ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมประสาน จากการศึกษาสมบัติทางโครงสร้างสัณฐานวิทยาพบว่า พอลิเมอร์ผสมระหว่างไนลอน6 และพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำไม่สามารถเข้ากันได้ขนาดขององค์ประกอบย่อยที่เป็นพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำที่กระจายตัวอยู่ในองค์ประกอบหลัก (ไนลอน6) มีขนาดใหญ่ และมีการกระจายตัวไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้สมบัติเชิงกลของพอลิเมอร์ผสมลดลง แต่หลังจากเติมเทอร์โมพลาสติก อิลาสโตเมอร์ชนิด TPENR ซึ่งเป็นตัวเชื่อมประสานลงไปในพอลิเมอร์ผสมเพียงเล็กน้อย (0.5 ส่วนในร้อยส่วน) สามารถทำให้พอลิเมอร์ผสมระหว่างไนลอน6 และพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำเข้ากันได้ช่วยทำให้ขนาดขององค์ประกอบย่อยที่กระจายตัวอยู่ในองค์ประกอบหลักลดลง และกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น จึงสามารถส่งผลให้สมบัติเชิงกลของพอลิเมอร์ผสมมีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับพอลิเมอร์ผสมในระบบที่ไม่มีตัวเชื่อมประสาน นอกจากนี้ ในการศึกษาสมบัติการไหลของพอลิเมอร์ผสมยังพบว่าประสิทธิภาพของเทอร์โมพลาสติก อิลาสโตเมอร์ยังช่วยทำให้พอลิเมอร์ผสมรวมเป็นเนื้อเดียวกันได้ดีขึ้น โดยเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของค่าความเค้นเฉือน และความหนืด ดังนั้นจากผลการศึกษาสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าปริมาณของเทอร์โมพลาสติก อิลาสโตเมอร์สำหรับใช้เป็นตัวเชื่อมประสานเพียงร้อยละ 0.5 ถึง 1 โดยน้ำหนัก ก็เพียงพอในการปรับปรุงสมบัติต่างๆ ของพอลิเมอร์ผสม

คำสำคัญ : พอลิเมอร์ผสม, ตัวเชื่อมประสาน, เทอร์โมพลาสติก อิลาสโตเมอร์, ยางธรรมชาติอิพ็อกซิไดซ์