สมบัติของเถ้าลอยจีโอโพลิเมอร์เพสต์ผสมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ สกลวรรณ ห่านจิตสุวรรณ์ 1*, ธนากร ภูเงินขำ 2 และ ปริญญา จินดาประเสริฐ 2 1 สาขาวิชาเทคโนโลยีโยธา คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง 2 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บทคัดย่อ
บทความนี้เป็นการศึกษาผลกระทบของการแทนที่ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ต่อคุณสมบัติของเถ้าลอยแคลเซียมต่ำและเถ้าลอยแคลเซียมสูงจีโอโพลิเมอร์เพสต์ โดยการแทนที่ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ในเถ้าลอยร้อยละ 5, 10 และ 15 โดยน้ำหนักของวัสดุประสาน การศึกษาใช้สารละลายโซเดียมซิลิเกตและสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่ความเข้มข้น 10 โมลาร์ เป็นสารละลายด่างในการทำปฏิกิริยา โดยใช้อัตราส่วนสารละลายโซเดียมซิลิเกตต่อสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์เท่ากับ 0.67 อัตราส่วนของเหลวต่อวัสดุประสานเท่ากับ 0.50 และบ่มที่อุณหภูมิห้องทุกอัตราส่วนผสม ผลการทดสอบพบว่าปริมาณการแทนที่ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้กำลังรับแรงอัดของเถ้าลอยจีโอโพลิเมอร์เพสต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยค่ากำลังรับแรงอัดของเถ้าลอยแคลเซียมต่ำและเถ้าลอยแคลเซียมสูงจีโอโพลิเมอร์เพสต์ที่อายุการบ่ม 7 วัน ที่มีการแทนที่ด้วยปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ในเถ้าลอยร้อยละ 15 มีค่าเท่ากับ 22 และ 34 เมกะปาสคาล ตามลำดับ ส่วนผลการวิเคราะห์โครงสร้างทางจุลภาคของเถ้าลอยจีโอโพลิเมอร์แสดงถึงปริมาณการแทนที่ด้วยปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์เพิ่มขึ้นสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตของแคลเซียมซิลิเกตไฮเดรต และอยู่ร่วมกับผลผลิตของจีโอโพลิเมอร์ ซึ่งผลการวิเคราะห์โครงสร้างทางจุลภาคสอดคล้องกับผลการทดสอบกำลังรับแรงอัดที่เพิ่มขึ้น

คำสำคัญ : จีโอโพลิเมอร์, เถ้าลอยแคลเซียมต่ำ, เถ้าลอยแคลเซียมสูง, ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์, กำลังอัด, โครงสร้างทางจุลภาค