การอบแห้งปลาหมึกกะตอยโดยใช้แสงอาทิตย์เป็นพลังงานความร้อนร่วม
สำรวย ภูบาล * และ วลัยรัตน์ จันทรวงศ์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์และสังคม, วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ได้ศึกษาการอบแห้งปลาหมึกกะตอยและเปรียบเทียบระหว่างการตากแดดกลางแจ้งกับการตากในตู้อบที่มีอากาศร้อนจากตัวเก็บรังสีอาทิตย์แบบแผ่นราบไหลผ่าน โดยสร้างชุดทดลองประกอบด้วยตู้อบพลาสติกใส ปริมาตร 0.125 ลูกบาศก์เมตร และตัวเก็บรังสีอาทิตย์แบบแผ่นราบ มีท่อลมต่อเชื่อมระหว่างตู้อบและตัวเก็บรังสีอาทิตย์ ตัวเก็บรังสีอาทิตย์แบบแผ่นราบมีรายละเอียดดังนี้ แผ่นดูดกลืนรังสีความร้อนทำจากแผ่นทองแดง มีความหนา 2 มิลลิเมตร ทาด้วยสีดำ พื้นที่รับแสงประมาณ 0.5 ตารางเมตร ผลิตภัณฑ์อบแห้งเป็นปลาหมึกกะตอยสด ปริมาณ 1 กิโลกรัม ทำการทดลองในช่วงเวลา 8.00 – 17.00 น. มีค่าความเข้มรังสีอาทิตย์ตลอดวันเฉลี่ย 661 วัตต์ต่อตารางเมตร เริ่มต้นปลาหมึกมีความชื้น 400 เปอร์เซ็นต์ มาตรฐานแห้ง ผลการวิจัยพบว่าหลังการตากแดดกลางแจ้งกับการตากในตู้อบที่มีอากาศร้อนจากตัวเก็บรังสีอาทิตย์แบบแผ่นราบ ผลิตภัณฑ์มีความชื้นเหลือ 170 และ 70 เปอร์เซ็นต์ มาตรฐานแห้ง โดยมีอัตราการลดความชื้นต่อชั่วโมงเป็น 23.4 และ 35.1 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เมื่อนำปลาหมึกไปอบต่อในห้องอบด้วยความร้อนจากแก๊สเชื้อเพลิงจึงสามารถลดเวลาการอบแห้งจนได้ผลิตภัณฑ์มีความชื้นตามที่ต้องการ ทำให้การใช้พลังงานแก๊สเชื้อเพลิงลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 22.5 เปอร์เซ็นต์ จากการศึกษาประสิทธิภาพการอบแห้งผลิตภัณฑ์เป็นรายชั่วโมงพบว่าประสิทธิภาพการอบแห้งลดลงเมื่อค่าความเข้มรังสีอาทิตย์สูงขึ้นแสดงว่าอัตราการอบแห้งมีค่าสม่ำเสมอ และงานวิจัยนี้มีค่าประสิทธิภาพการอบแห้ง โดยเฉลี่ย 31.0 เปอร์เซ็นต์

คำสำคัญ : ปลาหมึก, การอบแห้ง, ตัวเก็บรังสีอาทิตย์, พลังงานแสงอาทิตย์