สภาวะที่เหมาะสมที่สุดในการผลิตแผ่นใยไม้อัดที่ไม่มีตัวประสาน โดยใช้วิธีพื้นผิวตอบสนอง
ชาตรี หอมเขียว 1,2* สุรสิทธิ์ ระวังวงศ์ 1,2 และ วรพงค์ บุญช่วยแทน 1,2
1 สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ, คณะวิศวกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
2 หน่วยวิจัยเทคโนโลยีการแปรรูปวัสดุ, คณะวิศวกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

บทคัดย่อ
การออกแบบการทดลองแบบ Central composite design และวิธีพื้นผิวตอบสนองถูกประยุกต์เพื่อศึกษาผลกระทบของสภาวะการขึ้นรูป และเพื่อหาสภาวะการขึ้นรูปที่เหมาะสมที่สุดของแผ่นใยไม้อัดที่ไม่มีตัวประสาน การขึ้นรูปชิ้นงานตัวอย่างกระทำโดยใช้เครื่องอัดร้อน จากการทดลองพบว่า ระยะเวลาการอัดและอุณหภูมิมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความแข็งแรงดึงตั้งฉากกับผิวหน้า ความแข็งแรงดัด และการดูดซับน้ำ และการเพิ่มขึ้นของระยะเวลาการอัดและอุณหภูมิส่งผลให้การดูดซับน้ำลดลงอย่างชัดเจน แต่ความแข็งแรงดึงและดัดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามที่ระยะเวลาการอัดและอุณหภูมิสูงมากๆ พบว่าความแข็งแรงดึงและดัดมีค่าลดลงอย่างช้าๆ นอกจากนี้สมการถดถอยของความแข็งแรงดึงตั้งฉากกับผิวหน้า ความแข็งแรงดัด และการดูดซับน้ำสามารถหาสภาวะการขึ้นรูปที่เหมาะสมที่สุดของแผ่นใยไม้อัดหนา 6 มิลลิเมตร ได้ดังนี้ การขึ้นรูปโดยใช้ระยะเวลาการอัดร้อน 25 นาที และอุณหภูมิ 207 oC เช่นเดียวกันพบด้วยว่าแผ่นใยไม้อัดที่ขึ้นรูปด้วยสภาวะที่เหมาะสมที่สุดนี้มีสมบัติที่ใกล้เคียงกับค่าที่ได้จากการทำนาย

คำสำคัญ : แผ่นใยไม้อัดที่ไม่มีตัวประสาน, ผงไม้ยางพารา, การออกแบบการทดลอง, พื้นผิวตอบสนอง, การอัดร้อน