ผลของกลีเซอรอล และเพค-10 ไดเมทิโคนต่อสมบัติของฟิล์มชีวภาพจากเปลือกทุเรียน
สุจัยพรรณ เข็มแก้ว และ สุปราณี แก้วภิรมย์ *
ภาควิชาเคมี, คณะวิทยาศาสตร์, มหาวิทยาลัยบูรพา

บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ได้ทำการสังเคราะห์คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสจากเซลลูโลสของเปลือกทุเรียนเหลือทิ้ง สายพันธุ์หมอนทอง ด้วยปฏิกิริยาคาร์บอกซีเมทิเลชัน ยืนยันโครงสร้างทางเคมีของคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสด้วยเทคนิคอินฟราเรดสเปกโทรสโคปี และศึกษาโครงผลึกด้วยเทคนิคการเลี้ยวเบนของรังสีเอกซ์ (WAXD) เตรียมฟิล์มชีวภาพจากคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสที่สังเคราะห์ได้หลายสูตร โดยใช้กลีเซอรอล และเพค-10 ไดเมทิโคนเป็นสารเติมแต่ง ศึกษาผลของปริมาณสารเติมแต่ง (10 20 และ 30 %wt) ต่อสมบัติเชิงกล ความแข็ง โครงผลึกของแผ่นฟิล์ม และอัตราการซึมผ่านของไอน้ำ ผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่าการเติมกลีเซอรอลช่วยให้ฟิล์มมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น แต่มีค่ามอดุลัสของยังลดลง ในขณะที่การเติมเพค-10 ไดเมทิโคน มีผลให้ค่าความยืดหยุ่นของฟิล์มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ค่ามอดุลัสของยังเพิ่มสูงขึ้น ในงานวิจัยนี้การเติมกลีเซอรอล 30 %wt ทำให้ฟิล์มชีวภาพที่ได้มีค่าการต้านทานแรงขีดข่วนสูงที่สุดที่ระดับ 3H และร้อยละการยืด ณ จุดขาดสูงที่สุดเท่ากับ 47 % และมีอัตราการซึมผ่านของไอน้ำต่ำที่สุดคือ 317 g/day•m2

คำสำคัญ : คาร์บอกซิเมทิลเซลลูโลส, ฟิล์มชีวภาพ, กลีเซอรอล, เพค-10 ไดเมทิโคน