ผลของปริมาณเกาลินต่อสมบัติของโฟมชีวภาพที่มีแป้งข้าวโพดผสมแป้งข้าวเหนียวเป็นองค์ประกอบ
ศิรินภา นิวาสประกฤติ, อุบลลักษณ์ รัตนศักดิ์ และ สุปราณี แก้วภิรมย์ *
ภาควิชาเคมี, คณะวิทยาศาสตร์, มหาวิทยาลัยบูรพา

บทคัดย่อ
เพื่อลดปริมาณการใช้โฟมพอลิสไตรีนซึ่งก่อให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม งานวิจัยนี้ได้พัฒนาโฟมชีวภาพจากแป้งข้าวโพดผสมกับแป้งข้าวเหนียว เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้ทดแทนโฟมพอลิสไตรีน โดยใช้สารเติมแต่ง ได้แก่ กัวร์กัม ไขผึ้ง แมกเนเซียมสเตียเรท และกลีเซอรอล และเสริมแรงด้วยเกาลิน ได้ศึกษาผลของเกาลิน (5 10 และ 15 phr) ต่อสมบัติทางกายภาพ สมบัติเชิงกล และสมบัติทางความร้อนของโฟม การศึกษาพบว่าการเสริมแรงด้วยเกาลินมีผลให้ความหนาแน่นของโฟมมีค่าสูงขึ้น ขนาดและสัดส่วนของเซลล์เปิดมีค่ามากขึ้น ในขณะที่เซลล์ปิดมีขนาดใกล้เคียงกันแต่มีผนังเซลล์หนาขึ้น และมีสัดส่วนน้อยลง นอกจากนี้ปริมาณเกาลินที่มากขึ้นยังส่งผลให้โฟมแป้งมีการดูดซับความชื้นน้อยลงและคงรูปร่างได้ดีขึ้นหลังการแช่น้ำเป็นเวลา 30 นาที ถึงแม้ว่าการเติมเกาลินจะมีผลให้ค่าระยะยืด ณ จุดขาดของโฟมลดลง 44% แต่พบว่าโฟมมีค่าโมดูลัสเพิ่มขึ้นถึง 87% เมื่อเติมเกาลิน 15 phr นอกจากนี้ยังพบว่าการเติมเกาลินส่งผลให้จุดหลอมเหลวของโฟมเพิ่มขึ้นด้วย

คำสำคัญ : โฟมชีวภาพ, แป้งข้าวโพด, แป้งข้าวเหนียว, ดินเกาลิน