การศึกษาคุณลักษณะเฉพาะผิวเชื่อมพอกแข็งด้วยลวดเชื่อมแบบแกน Cr-Nb-Ni-Fe based และ Cr-Mo-W-Fe based ที่เตรียมด้วยการเชื่อมแบบ Gas Metal Arc Welding
แมน ตุ้ยแพร่ * และ คำรณ แก้วผัด
สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา

บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ได้ศึกษารอยเชื่อมพอกแข็ง 2 ชนิดคือรอยเชื่อมพอกแข็ง Cr-Nb-Ni- Fe based และรอยเชื่อมพอกแข็ง Cr-Mo-W-Fe based จากลวดเชื่อมแบบแกน ด้วยกระบวนการเชื่อมแบบ Gas Metal Arc Welding และเชื่อมบนเหล็กกล้าคาร์บอนต่ำ เพื่อประยุกต์ใช้ซ่อมแซมชิ้นส่วนที่เสียหาย การศึกษาพบลักษณะ รูปร่างของลวดเชื่อมแบบแกนประกอบด้วยเปลือกและผงวัสดุในแกนลวดเชื่อม เปลือกของลวดเชื่อม Cr-Nb-Ni-Fe based พบเหล็ก โครเมียม นิกเกิล เป็นองค์ประกอบทางเคมีเป็นหลัก ส่วนวัสดุผงในแกนลวดเชื่อมพบองค์ประกอบทางเคมีคือธาตุเหล็ก ไนโอเบียม โบรอนและอลูมิเนียม เป็นหลัก สำหรับเปลือกของลวดเชื่อม Cr-Mo-W-Fe based พบเหล็กและโครเมียมเป็นองค์ประกอบทางเคมีหลักและพบโมลิบดินัม ทังสเตนและคาร์บอนเป็นองค์ประกอบทางเคมีหลักในผงแกนลวดเชื่อม ความแข็งของรอยเชื่อม Cr-Mo-W-Fe based มีค่า 1007 HV300g ซึ่งสูงกว่าค่าความแข็งเฉลี่ยของรอยเชื่อม Cr-Nb-Ni-Fe based เนื่องจากมีองค์ประกอบทางเคมีของโมลิบดินัมและทังสเตนกระจายอยู่ในรอยเชื่อมและยังส่งผลให้อัตราการสึกหรอต่ำด้วย สำหรับรอยเชื่อมพอกแข็ง Cr-Nb-Ni-Fe based พบองค์ประกอบทางเคมีไนโอเบียมกระจายในรอยเชื่อม ทำให้รอยเชื่อมมีค่าความแข็งเฉลี่ย 656 HV300g ซึ่งสูงกว่าความแข็งของชิ้นงานเหล็กกล้าคาร์บอนประมาณ 3 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่า มีการเจือจางต่ำระหว่างลวดเชื่อมกับชิ้นงานจึงทำให้ความแข็งของรอยเชื่อมมีค่าสูงและสม่ำเสมอทั้งรอยเชื่อม

คำสำคัญ : การเชื่อมพอกผิวแข็ง, ลวดเชื่อมแบบแกน, การสึกหรอแบบไถล, การเชื่อมแบบ GMAW