การประเมินแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
สุพิชชา ชีวพฤกษ์ 1,2* ปิติณัตต์ ตรีวงศ์ 2,3 ชาญวิทย์ ตั้งสิริวรกุล 4,5 เชษฐวุฒิ ภูมิพิพัฒน์พงศ์ 3,5 และ ชัยพิพัฒน์ ศรีมณีชัย 3,5
1 ภาควิชาการจัดการเทคโนโลยีการผลิตและสารสนเทศ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
2 กลุ่มวิจัยการจัดการสารสนเทศในอุตสาหกรรม, สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
3 ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องต้นกำลัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
4 ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
5 ศูนย์วิจัยพลังงานยานยนต์และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

บทคัดย่อ
ในปี พ.ศ. 2558 ภาครัฐได้ประกาศใช้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2558–2579) ซึ่งปรับปรุงมาจากแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ. 2555–2564) ทั้งนี้ การขับเคลื่อนแผนฉบับใหม่ให้ประสบผลสำเร็จจำเป็นต้องมีการศึกษาข้อมูลการดำเนินงานที่ผ่านมา งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ผลการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกฉบับเดิมต่อการใช้พลังงานทดแทนภายในประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2552–2557 ตามตัวแบบประเมินบริบท–ปัจจัยนำเข้า–กระบวนการ–ผลผลิต (CIPP Model) โดยการเก็บข้อมูลทางสถิติ การสัมภาษณ์ และการสัมมนากลุ่ม ผลการวิจัยพบว่าแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกมีความสอดคล้องกับบริบท ภาครัฐมีโครงสร้างการบริหารและกรอบการลงทุน รวมถึงมีวิธีดำเนินงานที่สามารถขับเคลื่อนแผนได้ดี มีการติดตามและปรับปรุงแผนอยู่อย่างสม่ำเสมอ สถิติได้รายงานว่าปริมาณการใช้พลังงานทดแทนสูงกว่าเป้าหมายรายปีและมีแนวโน้มการใช้พลังงานทดแทนที่จะบรรลุตามเป้าหมายที่ 25% ในปี พ.ศ. 2564 อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังคงต้องทำการส่งเสริมพัฒนาพลังงานทดแทนต่อไปทั้งด้านเทคโนโลยีและการสร้างจิตสำนึกการใช้งานเพื่อให้ขับเคลื่อนแผนมีความก้าวหน้า มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

คำสำคัญ : แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก, คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ, พลังงานหมุนเวียน