การศึกษาสมบัติทางกายภาพและประสิทธิภาพในการลดค่าเวลาการสะท้อนกลับของเสียง (Reverberation time: RT30) ของแผ่นอัดจากชานอ้อย
สุชีวรรณ ยอยรู้รอบ * และ วิสุดา ประดับศรี
โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการพัฒนาแผ่นอัดจากชานอ้อย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสมบัติทางกายภาพและประสิทธิภาพของแผ่นอัดในการลดค่าเวลาการสะท้อนกลับของเสียง (Reverberation time: RT30) โดยศึกษาชิ้นทดสอบที่มีอัตราส่วนเส้นใยชานอ้อยต่อวัสดุประสานที่อัตราส่วน 1:2 1:3 และ 1:4 โดยน้ำหนัก จากการศึกษาสมบัติทางกายภาพ คือ การพองตัวเมื่อแช่น้ำ และการดูดซึมน้ำตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.876-2547) พบว่า สมบัติการพองตัวเมื่อแช่น้ำ และการดูดซึมน้ำมีแนวโน้มลดลง เมื่ออัตราส่วนของวัสดุประสานเพิ่มมากขึ้น โดยที่อัตราส่วน 1:2 มีสมบัติการพองตัวเมื่อแช่น้ำเกินค่ามาตรฐาน คือ เกินร้อยละ 12 ส่วนสมบัติการดูดซึมน้ำผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกอัตราส่วน คือ ไม่เกินร้อยละ 80 และจากการศึกษาประสิทธิภาพในการลดค่าเวลาการสะท้อนกลับของเสียง (Reverberation time: RT30) ของแผ่นอัดจากชานอ้อย พบว่า ทุกอัตราส่วนมีประสิทธิภาพในการลดค่า RT30 ในช่วงความถี่ 1000 Hz มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 75 โดยอัตราส่วน 1:3 และอัตราส่วน 1:4 มีแนวโน้มการลดลงของค่า RT30 ไปในทิศทางเดียวกัน คือ เมื่อความถี่เพิ่มมากขึ้นประสิทธิภาพในการลดค่า RT30 ลดลง

คำสำคัญ : แผ่นอัดจากชานอ้อย, วัสดุประสาน, การพองตัวเมื่อแช่น้ำ, การดูดซึมน้ำ, เวลาการสะท้อนกลับของเสียง