บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสมบัติทางกลโครงสร้างจุลภาค การนำความร้อนและการหดตัวแห้งของคอนกรีตมวลเบาเซลลูล่าผสมเถ้าชานอ้อย ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 แทนที่บางส่วนด้วยเถ้าชานอ้อยร้อยละ 10 20 และ 30 โดยน้ำหนักของวัสดุประสาน อัตราส่วนน้ำต่อวัสดุประสานเท่ากับ 0.60 ทำการทดสอบ ระยะเวลาการก่อตัว การดูดซึมน้ำ หน่วยน้ำหนัก กำลังอัด การวิเคราะห์โดยใช้เทคนิคทางความร้อน ความพรุน การทดสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด การหดตัวแห้งและการนำความร้อนของคอนกรีตมวลเบาเซลลูล่า ผลการทดสอบพบว่าคอนกรีตมวลเบาเซลลูล่าผสมเถ้าชานอ้อยร้อยละ 20 ให้กำลังอัดสูงสุด ค่ากำลังอัดของคอนกรีตมวลเบาเซลลูล่าผสมเถ้าชานอ้อยร้อยละ 10-30 โดยน้ำหนักของวัสดุประสานที่อายุ 28 วันสูงกว่าค่าที่ทาง มอก. 2601-2556 กำหนด ปริมาณการแทนที่ของเถ้าชานอ้อยที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้หน่วยน้ำหนักของคอนกรีตมวลเบาเซลลูล่าผสมเถ้าชานอ้อยมีค่าลดลงและการดูดซึมน้ำมีค่าสูงกว่าคอนกรีตมวลเบาเซลลูล่าควบคุม การลดลงของปริมาณแคลเซียมไฮดรอกไซด์ส่งผลให้ปริมาณของแคลเซียมซิลิเกตไฮเดรต (C-S-H) แคลเซียมอลูมิน่าซิลิเกตไฮเดรต (C2ASH8) และแคลเซียมอลูมิเนตไฮเดรต (C4AH13) มีปริมาณเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของกำลังอัด ความพรุนและปริมาณโพรงคาปิลารีขนาดใหญ่ของคอนกรีตมวลเบาเซลลูล่าผสมเถ้าชานอ้อยมีค่าเพิ่มขึ้นด้วยการแทนที่ที่เพิ่มขึ้นของเถ้าชานอ้อย การใช้เถ้าชานอ้อยช่วยการลดการหดตัวแห้งและการนำความร้อนของคอนกรีตมวลเบาเซลลูล่า
คำสำคัญ : คอนกรีตมวลเบาเซลลูล่า, เถ้าชานอ้อย, สมบัติทางกล, โครงสร้างจุลภาค, การนำความร้อน