การออกแบบและสร้างระบบโรตารีเจ็ตอิเล็กโตรสปินนิ่งด้วยวงจรฟลายแบคคอนเวอร์เตอร์แรงดันสูงกระแสตรงสำหรับกระบวนการผลิตเส้นใยพอลิเมอร์
จิรพัฒน์พงษ์ เสนาบุตร 1* และ วิเชษฐ์ ทิพย์ประเสริฐ 2
1 สาขาวิชาเคมี, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย
2 สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า, คณะวิศวกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย

บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบและสร้างระบบโรตารีเจ็ตอิเลคโตรสปินนิ่งด้วยวงจรฟลายแบคคอนเวอร์เตอร์แรงดันสูงกระแสตรงสำหรับกระบวนการผลิตเส้นใยพอลิเมอร์ด้วยการทดสอบประสิทธิภาพของสัญญาณพัลล์ภายในวงจรฟลายแบคคอนเวอร์เตอร์และทำการปรับสภาวะที่มีผลต่อคุณสมบัติของเส้นใยพอลิเมอร์ ได้แก่ ความเข้มข้นของสารละลายเชลแล็กและสารละลายพอลิพรอพิลีน และระยะห่างระหว่างเข็มกับตัวรองรับ อัตราเร็วรอบของแกนหมุน ผลการศึกษาพบว่า ผลของสัญญาณพัลล์ด้านเอาท์พุต TL 494 เป็นสัญญาณพัลส์สี่เหลี่ยมที่ดิวตี้ไซเคิล 10% และ 40% ที่ความถี่ 24 kHz และ 50 kHz ได้แรงดันสูงสุดที่ 6.5 kV ส่วนผลของความเข้มข้นของสารละลายเชลแล็กและสารละลายพอลิพรอพิลีนที่ส่งผลกับการเกิดเส้นใยพอลิเมอร์ที่ความเข้มข้นของสารละลายเชลแล็ก 40 %wt ระยะห่าง 10 เซนติเมตร ที่อัตราเร็วรอบ 2,500 รอบต่อนาที มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นใยเชลแล็กเฉลี่ย 10-70 ไมครอน ที่ความเข้มข้นของสารละลายพอลิพรอพิลีน 20 %wt ระยะห่าง 10 เซนติเมตร ที่อัตราเร็วรอบ 3,000 รอบต่อนาที มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นใยพอลิพรอพิลีนเฉลี่ย 5-45 ไมครอน ตามลำดับ

คำสำคัญ : เส้นใยพอลิเมอร์, โรตารีเจ็ตอิเล็กโตรสปินนิ่ง, ฟลายแบคคอนเวอร์เตอร์