สมบัติทางกล ทางกายภาพ และทางความร้อนของแผ่นใยไม้อัดที่ไม่มีตัวประสานจากผงแกลบและผงฟางข้าว
ชาตรี หอมเขียว 1,2* สุรสิทธิ์ ระวังวงศ์ 1,2 วรพงค์ บุญช่วยแทน 1,2 พศิกา แก้วผอม 1 และ ธัญญมาศ ทองขาวเผือก 1
1 สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ, คณะวิศวกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
2 หน่วยวิจัยเทคโนโลยีการแปรรูปวัสดุ, คณะวิศวกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

บทคัดย่อ
แกลบและฟางข้าวเป็นวัสดุเหลือใช้ที่มีเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ทั้งยังมีมูลค่าต่ำ อย่างไรก็ตามวัสดุเหล่านี้มีศักยภาพต่อการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตแผ่นใยไม้อัดที่ไม่มีตัวประสาน ดังนั้นบทความนี้นำเสนอผลกระทบของขนาดอนุภาคและชนิดวัตถุดิบ (แกลบ และฟางข้าว) ต่อสมบัติทางกล ทางกายภาพ และทางความร้อนของแผ่นใยไม้อัดที่ไม่มีตัวประสาน ซึ่งขนาดอนุภาคที่ใช้ศึกษามี 4 ช่วง คือ ขนาดเล็กกว่า 150 µm ขนาด 150 ถึง เล็กกว่า 212 µm ขนาด 212 ถึง เล็กกว่า 425 µm และขนาดเล็กกว่า 425 µm ในการผลิตแผ่นใยไม้อัดเป็นชิ้นงานตัวอย่างกระทำโดยใช้เครื่องอัดร้อนที่ควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่ 220 oC และแรงดันอัด 17.23 MPa เป็นระยะเวลา 25 นาที และผลจากการทดลองพบว่า ขนาดอนุภาคและชนิดวัตถุดิบมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อค่าความแข็งแรงดัด ค่ามอดูลัสการดัด และค่าความแข็งแรงดึงตั้งฉากกับผิวหน้าของแผ่นใยไม้อัดที่ไม่มีตัวประสาน โดยแผ่นใยไม้อัดมีค่าความแข็งแรงดัด ค่ามอดูลัสการดัด ค่าความแข็งแรงดึงตั้งฉากกับผิวหน้า และค่าการนำความร้อนเพิ่มขึ้นตามขนาดอนุภาคที่เล็กลง แต่ค่าเปอร์เซ็นต์การดูดซับน้ำและค่าเปอร์เซ็นต์การพองตัวกลับลดลง เช่นเดียวกันพบด้วยว่า แผ่นใยไม้อัดที่ผลิตจากผงฟางข้าวมีค่าความแข็งแรงดัด ค่ามอดูลัสการดัด และค่าการนำความร้อนสูงกว่าแผ่นใยไม้อัดที่ผลิตจากผงแกลบ นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานแผ่นใยไม้อัด พบด้วยว่าแผ่นใยไม้อัดที่ผลิตจากผงแกลบและที่ผลิตจากผงฟางข้าวขนาดเล็กกว่า 150 µm มีค่าความแข็งแรงดัด ค่ามอดูลัสการดัด ค่าความแข็งแรงดึงตั้งฉากกับผิวหน้า และค่าเปอร์เซ็นต์การพองตัวผ่าน Japanese Industrial Standard A 5905 เกณฑ์ Type 5 เป็นอย่างน้อย

คำสำคัญ : แผ่นใยไม้อัดที่ไม่มีตัวประสาน, ขนาดอนุภาค, ชนิดเส้นใยธรรมชาติ, การวิเคราะห์สถิติ, การอัดร้อน