บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาการเกิดคาร์บอเนชั่นของคอนกรีตที่แทนที่บางส่วนด้วยเถ้าลอย ตะกรันเตาถลุงเหล็กบดละเอียด และผงหินปูน ในปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 ใช้ตัวอย่างคอนกรีตขนาด 100 x 100 x 100 มม. โดยการบ่มน้ำ 28 วัน หลังจากครบเวลาที่กำหนดนำตัวอย่างคอนกรีตไปสัมผัสกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2 สภาวะ คือ นำคอนกรีตเข้าตู้เร่งปฏิกิริยาคาร์บอเนชั่นเป็นเวลา 90 วัน และนำไปไว้ในสภาพแวดล้อมที่สัมผัสก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถนนเพชรเกษม กิโลเมตรที่ 52 อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เป็นเวลา 90 180 และ 270 วัน ผลการศึกษาพบว่า การเกิดคาร์บอเนชั่นของคอนกรีตผสมเถ้าลอยและผสมตะกรันเตาถลุงเหล็กบดละเอียดมีค่ามากกว่าของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 ล้วน ในขณะที่การเกิดคาร์บอเนชั่นของคอนกรีตผสมผงหินปูนมีค่าใกล้เคียงกับของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 ล้วน ส่วนการเกิดคาร์บอเนชั่นของคอนกรีตในสภาวะเร่ง ซึ่งมีการสัมผัสก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เข้มข้นมากกว่า มีค่ามากกว่าสภาวะจริงที่สัมผัสก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เข้มข้นน้อยกว่า นอกจากนี้สัมประสิทธิ์คาร์บอเนชั่นของคอนกรีตผสมเถ้าลอยและตะกรันเตาถลุงเหล็กบดละเอียดมีค่ามากกว่าของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 ล้วน ในขณะที่สัมประสิทธิ์คาร์บอเนชั่นของคอนกรีตผสมผงหินปูนมีค่าใกล้เคียงเมื่อเทียบกับของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 ล้วน สุดท้ายสามารถทำนายความลึกคาร์บอเนชั่นของคอนกรีตในสภาวะจริงจากความลึกคาร์บอเนชั่นของคอนกรีตในสภาวะเร่งได้
คำสำคัญ : คอนกรีต, คาร์บอเนชั่น, สัมประสิทธิ์คาร์บอเนชั่น, สภาวะจริง, สภาวะเร่ง