การออกแบบหัวตรวจสอบการกัดกร่อนภายใต้ผิวหุ้มปิดด้วยวิธีกระแสไหลวน
กิตตินันท์ สดใส 1 ใหม่ น้อยพิทักษ์ 2* วิบุญ ตั้งวโรดมนุกูล 1 และ ไชยา ดำคำ 1
1 ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ, คณะวิศวกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
2 หน่วยวิจัยวัสดุและการทดสอบโดยไม่ทำลาย, ศูนย์บริการทางการศึกษาราชบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

บทคัดย่อ
การใช้ฉนวนหุ้มผิวท่อเป็นวิธีป้องกันการสูญเสียพลังงานความร้อนของสสารที่อยู่ภายในท่อ ซึ่งการกัดกร่อนมีโอกาสเกิดขึ้นภายใต้ผิวหุ้มปิด จึงได้มีการออกแบบวิธีการตรวจสอบการกัดกร่อนบนผิวโลหะภายนอกท่อโดยไม่ทำลายผิวหุ้มปิดโดยการประยุกต์ใช้การทดสอบโดยไม่ทำลายด้วยกระแสไหลวน งานวิจัยนี้ได้ศึกษาเพื่อออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบที่นำมาใช้ในการทดสอบโดยออกแบบและสร้างหัวตรวจสอบทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่ หัวตรวจสอบแบบแกนเหล็กรูปตัวซี และหัวตรวจสอบแบบแกนเหล็กขดลวดแยกกระตุ้นในแกนเดียว แล้วทำการตรวจสอบชิ้นงานที่ออกแบบให้มีรอยกัดกร่อนจำลองแบบสม่ำเสมอที่ความถี่ตั้งแต่ 300 – 1000 เฮิรตซ์ ใช้เครื่องกำเนิดสัญญาณทางไฟฟ้าจ่ายสัญญาณไฟฟ้า และใช้ออสซิลโลสโคปเป็นอุปกรณ์แสดงผล จากการทดลองพบว่า หัวตรวจสอบแบบแกนเหล็กขดลวดแยกกระตุ้นในแกนเดียวกัน สามารถตรวจสอบรอยกัดกร่อนจำลองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าหัวตรวจสอบแบบแกนเหล็กรูปตัวซี ซึ่งสามารถตรวจสอบรอยกัดกร่อนจำลองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 6 มิลลิเมตร เป็นต้นไป ความลึก 1 – 6 มิลลิเมตร ที่ความถี่ 300 – 400 เฮิรตซ์ และสามารถตรวจสอบผ่านชั้นสีเคลือบและชั้นฉนวนหนารวมกันได้ไม่เกิน 3 มิลลิเมตร

คำสำคัญ : กระแสไหลวน, ฉนวนหุ้มผิว, ขดลวดแยกกระตุ้น, การทดสอบโดยไม่ทำลาย