การผลิตพอลิไฮดรอกซีอัลคาโนเอตจากกรดไขมันของน้ำมันปาล์มโดยใช้เชื้อ Pseudomonas fluorescens TISTR 358
ตติยา บรรดาศักดิ์ 1 ผุสชา พลชำนิ 1 ปิ่นอนงค์ ธนิกกุล 2 วนัสพรรัศม์ สวัสดี 3 และ นิพนธ์ พิสุทธิ์ไพศาล 1,2*
1 ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม, คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
2 ศูนย์ไบโอเซ็นเซอร์และไบโออิเล็กทรอนิกส์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
3 สาขาวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา, วิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ, มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ทำการศึกษาการผลิตพอลิไฮดรอกซีอัลคาโนเอตจากแหล่งคาร์บอนที่เป็นกรดไขมันจากปฏิกิริยาสะปอนนิฟิเคชั่นของน้ำมันปาล์ม โดยใช้ Pseudomonas fluorescens TISTR 358 ด้วยกระบวนการหมักแบบกะในตู้บ่มเขย่า ความเร็วรอบ 180 รอบต่อนาที สภาวะอุณหภูมิ 30๐C ทำการทดลองโดยแปรผันความเข้มข้นของกรดไขมันในอาหารเลี้ยงเชื้อเริ่มต้น ได้แก่ 0.50, 0.75, 1.00 และ 1.50% โดยมวลต่อปริมาตร ค่าความเป็นกรดด่างที่ 7.0 จากผลการทดลอง พบว่า ความเข้มข้นของกรดไขมันนั้น มีผลต่อการเจริญเติบโต ค่าความเป็นกรดด่าง การผลิตและการสะสมพอลิไฮดรอกซีอัลคาโนเอตของ P. fluorescens TISTR 358 โดยน้ำหนักเซลล์จุลินทรีย์แห้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง และสูงสุดในชั่วโมงการหมักที่ 48 เท่ากับ 1.63, 1.60, 1.08 และ 1.05 กรัมต่อลิตร ที่ความเข้มข้น 0.50, 0.75, 1.00 และ 1.50% โดยมวลต่อปริมาตร ตามลำดับ ปริมาณพอลิไฮดรอกซีอัลคาโนเอต สูงสุดที่เชื้อผลิตและสะสมไว้ตลอดระยะเวลาการหมัก 72 ชั่วโมง เท่ากับ 0.17 กรัมต่อลิตร (12.61%) ที่ความเข้มข้นกรดไขมัน 0.50% โดยมวลต่อปริมาตร เซลล์จุลินทรีย์มีการเรืองแสงสีแดงของสีย้อม Nile red เมื่อนำไปส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์ฟลูออเรสเซนต์ และเห็นลักษณะแกรนูลพอลิไฮดรอกซีอัลคาโนเอตที่สะสมอยู่ภายในตัวเซลล์จุลินทรีย์ เมื่อนำไปส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า เชื้อ P. fluorescens TISTR 358 สามารถใช้ กรดไขมันจากน้ำมันปาล์ม เป็นสารตั้งต้นเพื่อผลิตและสะสมพอลิไฮดรอกซีอัลคาโนเอตไว้ภายในเซลล์ได้

คำสำคัญ : พอลิไฮดรอกซีอัลคาโนเอต, Pseudomonas fluorescens, น้ำมันปาล์ม, กรดไขมัน