แบบจำลองสภาพจราจรระบบขนส่งสาธารณะ : กรณีศึกษาเมืองภูเก็ต
พัชราภรณ์ ยอดสุดรางค์ วเรศรา วีระวัฒน์ * และ
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ, คณะวิศวกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล

บทคัดย่อ
จังหวัดภูเก็ตมีประชากรประมาณ 4 แสนคน แต่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยมากกว่า 13 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันการเดินทางในพื้นที่ส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล 60% การใช้รถโดยสารสาธารณะมีปริมาณน้อยเพียงแค่ 6.6% ภาครัฐจึงมีแนวคิดในการยกระดับพัฒนาการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการประยุกต์แบบจำลองเพื่อศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการรถโดยสารสาธารณะในเมืองภูเก็ต โดยการจำลองสภาพจราจรในระดับจุลภาคด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ VISSIM กรณีศึกษานี้เลือกการให้บริการรถโดยสารสาธารณะขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เส้นทางที่ 2 จากตลาดสี่มุมเมืองถึงห้างซุปเปอร์ชีป ซึ่งการพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการในอนาคตจะเลือกรูปแบบที่มีความเป็นไปได้ภายใต้โครงสร้างทางปัจจุบัน ประกอบด้วย การศึกษาผลกระทบปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น การปรับให้มีช่องทางการเดินรถเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ และการเปลี่ยนเส้นทางการเดินรถให้เป็นเส้นทางการเดินรถระยะสั้น ทั้งนี้การศึกษาผลกระทบโดยแบบจำลองพิจารณาจากระยะเวลาการเดินทางจากต้นทางถึงปลายทาง ความเร็วเฉลี่ยในโครงข่าย และเวลาถึงสถานีปลายทางของรถโดยสารสาธารณะ จากผลการวิเคราะห์พบว่า การที่ปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นส่งผลให้ความเร็วเฉลี่ยในโครงข่ายลดลง 8.6% สถานการณ์ที่มีการปรับให้มีช่องทางการเดินรถเฉพาะรถโดยสารสาธารณะและเส้นทางการเดินรถระยะสั้น สามารถลดระยะเวลาการเดินทางจากเดิมได้ประมาณ 5 นาที 49 วินาทีต่อคัน (หรือลดลง 5.6%) และเวลาถึงสถานีปลายทางของรถโดยสารสาธารณะมีความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 1 นาที

คำสำคัญ :การจำลองสภาพจราจร, แบบจำลองระดับจุลภาค, ระบบขนส่งสาธารณะ, รถโดยสารสาธารณะ