บทคัดย่อ
กระบวนการตัดสินใจในการเลือกวัสดุชีวมวลที่เหมาะสมจากวัสดุทางการเกษตรเพื่อนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนยากต่อการตัดสินใจเพราะว่ามีปัจจัยหรือคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องหลายอย่างที่ต้องพิจารณาไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงได้นำเสนอเทคนิค TOPSIS DEA และ hybrid DEA-TOPSIS ในการประเมินและจัดลำดับความสำคัญของวัสดุชีวมวลแต่ละชนิด เริ่มจากการกำหนดคุณสมบัติที่สำคัญของเชื้อเพลิงอัดแท่ง ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จะถูกกำหนดให้เป็นตัวแปรนำเข้าและตัวแปรผลผลิตในเทคนิค DEA (เป็นปัจจัยหรือเกณฑ์สำหรับเทคนิค TOPSIS) ส่วนชนิดของถ่านอัดแท่งจากวัสดุทางการเกษตรจะถูกกำหนดให้เป็นหน่วยผลิตสำหรับเทคนิค DEA (เป็นทางเลือกสำหรับเทคนิค TOPSIS) หลังจากนั้นเทคนิค TOPSIS DEA และ hybrid DEA-TOPSIS ได้ถูกนำมาใช้สำหรับการประเมินและจัดลำดับความสำคัญของวัสดุชีวมวลแต่ละชนิด โดยในกรณีศึกษาที่ 1 มีจำนวนทางเลือก 23 ทางเลือก และมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 ปัจจัย ได้แก่ ความชื้น เถ้า สารระเหย คาร์บอนคงตัว และค่าความร้อน ผลการทดสอบสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์สเปียร์แมนระหว่างเทคนิค hybrid DEA-TOPSIS กับเทคนิค DEA และ TOPSIS มีค่าเท่ากับ 0.863 และ 0.932 ตามลำดับ สำหรับกรณีศึกษาที่ 2 มีจำนวนทางเลือก 7 ทางเลือก และมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ปัจจัย ได้แก่ ค่าความร้อน คาร์บอนคงตัว และความชื้น ผลการทดสอบสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์สเปียร์แมนระหว่างเทคนิค hybrid DEA-TOPSIS กับเทคนิค DEA และ TOPSIS มีค่าเท่ากับ 1 เท่ากันดังนั้นวิธีที่นำเสนอในงานวิจัยนี้สามารถเป็นแนวทางในการเลือกวัสดุชีวมวลที่เหมาะสมจากวัสดุทางการเกษตรสำหรับการนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งได้
คำสำคัญ : พลังงานทางเลือก, วัสดุชีวมวล, การตัดสินใจแบบหลายเกณฑ์, DEA, TOPSIS