การผลิตไฟฟ้าโดยใช้เซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์จากของเสียกลีเซอรอลและน้ำเสีย โรงงานฟอกหนัง
นิพนธ์ พิสุทธิ์ไพศาล* วนัสพรรัศม์ สวัสดี และ
ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม, คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพ การผลิตกำลังไฟฟ้าจากของเสียกลุ่มอุตสาหกรรมไบโอดีเซล คือ ของเสียกลีเซอรอล และอุตสาหกรรมฟอกหนัง คือ น้ำเสียจากโรงงานฟอกหนัง โดยใช้เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์ รวมไปถึงการกำจัดของเสียในรูปซีโอดี จากผลการวิจัย พบว่า กำลังไฟฟ้าจากของเสียกลีเซอรอล มีค่า 0.0018 มิลลิวัตต์ต่อตารางเมตร และน้ำเสียโรงงานฟอกหนัง สามาถผลิตกำลังไฟฟ้าได้ 6.2 มิลลิวัตต์ต่อตารางเมตร เซลล์เชื้อเพลิงจุลชีพสามารถประสิทธิภาพการบำบัดของเสียในรูปซีโอดีจากของเสียกลีเซอรอล และน้ำเสียโรงงานฟอกหนังได้ 80 และ 90 % ตามลำดับ ในส่วนการกำจัดไนโตรเจนในรูป TKN (Total Kjeldahl Nitrogen) ที่ได้จากน้ำเสียโรงงานฟอกหนัง มีประสิทธิภาพถึง 50% นอกจากนี้ยังมีพารามิเตอร์ที่บ่งบอกถึงปฏิกิริยาออกซิเดชั่น-รีดักชั่น ซึ่งเป็นปฏิกิริยาหลักในเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์ คือ ไซคลิกโวลแทเมทรีแสดงถึงปฏิกิริยาออกซิเดชั่น-รีดักชั่น ที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนขั้วไฟฟ้าภายในระบบ และประสิทธิภาพคูลอมป์ (Coulombic efficiency: CE) โดยของเสียกลีเซอรอล และน้ำเสียโรงงานฟอกหนัง มีประสิทธิภาพคูลอมป์ 7.62 และ 15.6 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เหล่านี้ถือเป็นพารามิเตอร์ที่แสดงถึงประสิทธิภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้าของเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์จากสารตั้งต้นทั้ง 2 ชนิด ดังนั้น สามารถสรุปได้ว่า น้ำเสียโรงงานฟอกหนังสามารถผลิตกำลังไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์ได้มีประสิทธิภาพมากกว่าของเสียกลีเซอรอล

คำสำคัญ :ของเสียกลีเซอรอล, น้ำเสียโรงงานฟอกหนัง, เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์, การผลิตไฟฟ้า