การผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วโดยใช้ถังปฏิกรณ์แบบไฮโดรไดนามิกส์คาวิเตชั่น
อิทธิพล วรพันธ์*นพรัตน์ อมัติรัตน์ และ
สาขาวิศวกรรมเครื่องกล, คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, จังหวัดนครราชสีมา

บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตไบโอดีเซลด้วยถังปฏิกรณ์แบบไฮโดรไดนามิกส์คาวิเตชั่นผ่านการทำปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่นของน้ำมันพืชใช้แล้วและเมทานอลโดยใช้โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ตัวแปรที่ศึกษาเน้นไปที่ตัวแปรที่มีผลต่อปริมาณไบโอดีเซลที่ได้ ได้แก่ความดันทางด้านเข้า (2, 3 และ 4 บาร์) อัตราส่วนโดยโมลเมทานอลต่อน้ำมันพืช (4:1, 6:1 และ 8:1) ความเข้มข้นของตัวเร่งปฏิกิริยา (0.5, 1 และ 1.5 ร้อยละโดยน้ำหนัก) และเวลาในการทำปฏิกิริยา (20, 30 และ 40 นาที) แล้วกำหนดอุณหภูมิในการทำปฏิกิริยาคือ 28 องศาเซลเซียส (อุณหภูมิห้อง) จากผลการทดลองพบว่าสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วคือความดันทางด้านเข้า 4 บาร์ อัตราส่วนโดยโมลเมทานอลต่อน้ำมันพืชเท่ากับ 6:1 ความเข้มข้นของตัวเร่งปฏิกิริยาร้อยละ 1 โดยน้ำหนัก และเวลาในการทำปฏิกิริยาเท่ากับ 30 นาที ได้ปริมาณไบโอดีเซลที่ได้ร้อยละ 93 นอกจากนี้จากการนำน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้จากสภาวะที่เหมาะสมไปทดสอบหาสมบัติการเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงพบว่าไบโอดีเซลที่ได้มีสมบัติการเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในช่วงกำหนดของมาตรฐานไบโอดีเซลและน้ำมันดีเซลหมุนช้า ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าถังปฏิกรณ์แบบไฮโดรไดนามิกส์คาวิเตชั่นสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่นสำหรับผลิตไบโอดีเซลแบบหนึ่งขั้นตอนได้

คำสำคัญ :ไบโอดีเซล, น้ำมันพืชใช้แล้ว, แผ่นออริฟิซ, ถังปฏิกรณ์แบบไฮโดรไดนามิกส์คาวิเตชั่น